English version

แถลงการณ์ต่อการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 13 กรุงอาบูดาบี
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567

องค์การการค้าโลก (WTO) จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 (MC13) ณ กรุงอาบูดาบี ระหว่างวันที่ 26-29 กุมภาพันธ์ 2567 ในขณะเดียวกับที่การประท้วงของชาวนาเกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา เกษตรกรกว่า 65 ประเทศทั่วโลกจัดการชุมนุม ทั้งในแอฟริกา ยุโรป และละตินอเมริกา ในเอเชีย มีการระดมพลของชาวนามากกว่า 10 ประเทศในช่วงก่อนการประชุมสี่วัน โดยการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนและรัฐมนตรีจาก 164 ประเทศจะหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านการประมง เกษตรกรรม และการค้าดิจิทัล

ในเกาหลีใต้ รัฐบาลตกอยู่ใต้คำวิจารณ์จากกลุ่มเกษตรกรเนื่องจากนโยบายลดกำแพงภาษีซึ่งส่งผลให้สินค้าเกษตรราคาถูกหลั่งไหลเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก เกษตรกรได้โต้แย้งให้รัฐบาลทำการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงปกป้องตลาดภายในประเทศจากการนำเข้าสินค้าเกษตรราคาถูก เพิ่มการพึ่งพาตนเองด้านอาหารผ่านการรักษาเสถียรภาพการจัดการข้าวและนโยบายปรับปรุงการผลิต สำหรับ ศรีลังกาซึ่งเผชิญกับปัญหาหนี้สินและวิกฤตเศรษฐกิจหลายด้าน รัฐบาลก็ยังคงดำเนินการนำเข้าอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ กลุ่มเกษตรกรในศรีลังกาจึงเดินหน้าผลักดันข้อเรียกร้องเรื่องการประกันราคา เร่งรัดให้รัฐจัดทำนโยบายการตลาดและการเก็บรักษาข้าวเปลือกที่ถูกละเลย

ในอินเดีย เกษตรกรหลายหมื่นคนได้เดินขบวนไปยังนิวเดลีซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอีกครั้ง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อการผิดสัญญา รวมถึงความสามารถที่จะรักษาผลประโยชน์ของภาคเกษตรกรรมอินเดียใน WTO ทั้งนี้ วิกฤตเกษตรกรรมของอินเดียทวีความรุนแรงอย่างยิ่ง รายงานน่าสลดใจระบุว่าในปี 2566 มีเกษตรกรฆ่าตัวตายทุก ๆ ชั่วโมง โดยกลุ่ม Samyukth Kisan Morcha (แนวร่วมชาวนา) ซึ่งเป็นผู้นำการประท้วง เรียกร้องให้การประกาศราคารับซื้อขั้นต่ำ (remunerative prices) เป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างถาวรใน WTO เพื่อแก้ปัญหาความสามารถของอินเดียในการรักษาโครงการการสต็อกอาหารร่วมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (public food stockholding programme)

อินโดนีเซียยังเผชิญกับการนำเข้าข้าวจำนวนมากในช่วงต้นปี 2567 ก่อนฤดูเก็บเกี่ยวจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคม สหภาพชาวนาอินโดนีเซียได้ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐหยุดนโยบายการนำเข้าที่ทำให้ราคารับซื้อหน้าแปลงตกต่ำลง ซ้ำเติมให้เกษตรกรล้มละลาย นอกจากนี้ เกษตรกรในเนปาลประท้วงว่าพวกเขาไม่สามารถแข่งขันกับการนำเข้าผักจากอินเดียได้ ในฟิลิปปินส์ ไทย และญี่ปุ่น เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา

นอกเหนือจากการประท้วงของเกษตรกรแล้ว แรงงานภาคประมงและชาวประมงพื้นบ้านก็จัดการประท้วงทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อต่อสู้กับการสูญเสียวิถีการดำรงชีวิต ทรัพยากรปลาที่ลดลงอย่างมาก การนำเข้าสินค้าประมง และการโอนกรรมสิทธิพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เอกชนผ่านโครงการต่างๆ เช่น เศรษฐกิจสีฟ้า (Blue Economy) โครงการทวงคืนพื้นที่ทางทะเลขนาดใหญ่ และเหมืองทะเลลึก โดยชุมชนชาวประมงได้จัดตั้งศาลประชาชนในปี 2565 เพื่อตอบโต้การยึดครองมหาสมุทรของบรรษัท มีการชี้ประเด็นต่างๆ เช่น การยึดพื้นที่มหาสมุทร อันตรายของอุตสาหกรรมถลุงทรัพยากร และการผ่อนคลายกฎระเบียบของการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกองเรือประมงและโรงงานปลาป่นจากต่างแดน

แม้ว่ารัฐบาลจากประเทศซีกโลกใต้ยังไม่สามารถตอบสนองต่อวิกฤติที่แพร่หลายและการประท้วงในประเทศบ้านเกิดของตน ซึ่งต่างก็เกิดจากการนำนโยบายการค้าเสรีและการลงทุนมาใช้อย่างมีข้อบกพร่อง ถึงกระนั้น รัฐบาลเหล่านี้ก็จะยังคงทำตัวเป็นช้างเท้าหลังในการประชุม WTO MC13 ทั้งนี้ นับตั้งแต่ WTO ก่อตั้งเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว หรือในปี พ.ศ. 2538 ประเทศกำลังพัฒนาต่างตกเป็นฝ่ายตั้งรับในการเจรจา WTO ทุกด้าน ยกเว้นชัยชนะอันดุเดือดเพียงไม่กี่ครั้งในการประชุมที่ซีแอตเทิล (พ.ศ. 2542) และเมืองแคนคูน (พ.ศ. 2546)

ในอาบูดาบี มีบทพูดที่คุ้นเคยเกิดขึ้นอีกครั้งในขณะที่ WTO ซึ่งเต็มไปด้วยวิกฤต พยายามที่จะผลักดันวาระการเปิดเสรีการค้าที่มีข้อบกพร่องและล้าสมัยในด้านต่างๆ เช่น การอุดหนุนการประมง เกษตรกรรม และการบริการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทีของการค้าดิจิทัล)

ในช่วงปีแรกๆ ข้อตกลงด้านการเกษตร (AoA) ของ WTO ถูกท้าทายจากภายในโดยแนวร่วมของประเทศกำลังพัฒนา เช่น G20 และ G33 ในปี 2546 กลุ่มพันธมิตร G20 นำโดยบราซิลและอินเดียเน้นย้ำประเด็นการเข้าถึงตลาดสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และโจมตีการสนับสนุนภายในประเทศและการอุดหนุนการส่งออกในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่วาระทั้งสองนี้กลับกลายเป็นภาพลวงตา ประสบการณ์ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงเพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจการเกษตรของตน และวาระการเข้าถึงตลาดสำหรับประเทศกำลังพัฒนายังมีข้อบกพร่องและสร้างความแตกแยกให้กับประเทศซีกโลกใต้ การล่มสลายของกลุ่มพันธมิตร G20 ใน WTO หลังปี 2547 ได้ตอกย้ำความขัดแย้งดังกล่าว กลุ่มพันธมิตร G33 ซึ่งนำโดยอินโดนีเซียและอินเดียกระตุ้นให้มีการสนับสนุนกลไกการคุ้มครองพิเศษและผลิตภัณฑ์พิเศษ เพื่อประกันความมั่นคงทางอาหารและการปกป้องวิถีการดำรงชีวิตในชนบท ตั้งแต่ปี 2013 พวกเขายังได้ผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขอย่างถาวรเพื่อหยุดการโจมตีโครงการสต็อกอาหารร่วมเพื่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับความสนใจจากประเทศสำคัญๆ ในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา แต่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ก็ยังต่อต้านอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะขัดขวางความพยายามในการบรรลุเป้าหมายนี้ในอาบูดาบีอีกครั้ง

ด้านการประมง แม้ว่าองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จะเป็นพื้นที่ที่ก่อตั้งขึ้นอย่างยาวนานเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืน แต่การเจรจาเรื่องเงินอุดหนุนครั้งใหม่ก็ยังคงถูกยัดเยียดกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีรอบโดฮา พ.ศ. 2544 กรณีนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ประเทศกำลังพัฒนาได้ให้ข้อเสนอยาวนานกว่า 20 ปี ให้กองเรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในซีกโลกเหนือถูกควบคุม และต้องมีการปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่างสำหรับชาวประมงรายย่อยในซีกโลกใต้ รวมถึงมีพื้นที่ทางนโยบายเพื่อปกป้องวิถีความเป็นอยู่ของภาคประมงแบบดั้งเดิมไว้ ในทางกลับกัน WTO กลับมีข้อตกลงเงินอุดหนุนการประมงปี 2566 ที่เหลื่อมล้ำและมีข้อบกพร่อง โดยคุ้มครองเงินอุดหนุนการประมงของบรรษัท และให้มีการปฏิบัติแบบพิเศษและแตกต่างสำหรับประเทศซีกโลกเหนือ

เป็นเวลากว่าสามทศวรรษ แทนที่ WTO จะผลักดันประเด็นพื้นฐานที่ชาวนาและชุมชนประมงต้องเผชิญ นักเจรจาการค้าจากซีกโลกใต้กลับติดกับตรรกะการเข้าถึงตลาดและการให้เงินอุดหนุนผ่านข้อตกลงของ WTO เรื่องน่าขันเหล่านี้จะต้องยุติลงเนื่องจากการค้าเสรีและข้อตกลงของ WTO นับจนถึงขณะนี้มีเพื่อทำลายความเป็นอยู่ของชาวนา ชาวประมง และคนงานหลายร้อยล้านคนในซีกโลกใต้เท่านั้น

หนทางข้างหน้าสำหรับซีกโลกใต้คือ เส้นทางที่มิใช่ WTO ประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรดำเนินการเจรจาใดๆ เพิ่มเติม และหันไปสร้างความเข้มแข็งให้กับการสร้างเวทีประชาธิปไตยในกลไกสหประชาชาติ เช่น UNCTAD เพื่อส่งเสริมข้อตกลงพหุภาคีที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง สร้างความร่วมมือ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรของตน กรอบการค้าใหม่ระดับโลกที่อิงตามหลักการอธิปไตยทางอาหาร ความยุติธรรมทางสังคม ความสมานฉันท์และความเป็นสากล ต้องกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าที่เคย

 

องค์กรที่ลงนามสนับสนุนแถลงการณ์:

  1. Alyansa Tigil Mina — ATM (Philippines) 
  2. All Nepal Peasants Federation — ANPFa, La Via Campesina (Nepal)
  3. Aniban ng mga Manggagawa sa Agrikultura — AMA (Philippines) 
  4. Assembly of the Poor, La Via Campesina (Thailand)
  5. Bangladesh Agricultural Farm Labour Federation — BAFLF, La Via Campesina (Bangladesh)
  6. Bhartiya Kisan Union —- BKU, La Via Campesina (India)
  7. Bukluran ng Manggagawang Pilipinas — BMP (Philippines)
  8. Cholistan Development Council (Pakistan) 
  9. Crofter Foundation (Pakistan) 
  10. Dakila — Philippine Collective for Modern Heroism (Philippines)
  11. Ekologi Maritim Indonesia (Indonesia)
  12. FIAN (Indonesia)
  13. Focus on the Global South (Thailand, Philippines, Cambodia and India)
  14. Food Sovereignty Alliance (India)
  15. Franciscan Sisters of the Immaculate Conception (Philippines)
  16. Harri Jadojehad Committee (Pakistan)
  17. Hints/Sahita Institute (Indonesia) 
  18. In Defense of Human Rights and Dignity Movement — iDEFEND (Philippines)
  19. Indian Coordination Committee of Farmers Movements — ICCFM, La Via Campesina (India)
  20. Indian Social Action Forum — INSAF (India)
  21. Indonesia Traditional Fisherfolk Union KNTI (Indonesia)
  22. Integrated Rural Development Foundation — IRDF (Philippines)
  23. Ka Tribu ug ang Lasang (Philippines)  
  24. Karnataka Rajya Raitha Sangha and Hasiru Sene — KRRS, La Via Campesina (India)
  25. Kilusan  para sa Repormang Agraryo at Katarungang Panlipunan — KATARUNGAN (Philippines)
  26. Kissan Karkeela Organisation (Pakistan) 
  27. Korean Peasants League, La Via Campesina (South Korea) 
  28. Korean Peasant Women Association, La Via Campesina (South Korea) 
  29. Labour Education Foundation (Pakistan) 
  30. Lilak, Purple Action for Indigenous Women’s Rights — LILAK (Philippines) 
  31. Movement for Land and Agricultural Reform MONLAR, La Via Campesina (Sri Lanka)
  32. Nagkakaisang Magsasaka ng Gitnang Luzon — NMGL (Philippines)
  33. Oriang (Philippines)
  34. Pambansang Katipunan ng mga Samahan sa Kanayunan — PKSK (Philippines)
  35. Pambansang  Koalisyon ng Kababaihan sa Kanayunan — PKKK (Philippines)
  36. PARAGOS Pilipinas, La Via Campesina (Philippines) 
  37. Partido Lakas ng Masa — PLM (Philippines)
  38. Partido Manggagawa — PM (Philippines)
  39. Pakistan Kissan Rabita Committee, La Via Campesina (Pakistan) 
  40. People’s Democracy Movement of Thailand – PDMT (Thailand)
  41. People’s Development Institute — PDI (Philippines)
  42. Philippine Alliance of Human Rights Advocates — PAHRA (Philippines)
  43. National Fisheries Solidarity Movement NAFSO (Sri Lanka) 
  44. Pagkakaisa ng mga Samahan ng Mangingisda PANGISDA-Pilipinas (Philippines)
  45. Rural Initiatives for Community and Ecology Association – RICE (Sri Lanka)
  46. SANLAKAS (Philippines)
  47. Sentro ng Nagkakaisa at Progresibong Manggagawa — SENTRO ( Philippines) 
  48. Serikat Petani Indonesia, La Via Campesina (Indonesia)
  49. Southern Peasants’ Federation of Thailand – SPFT (Thailand)
  50. Tambuyog Development Center (Philippines) 
  51. Tameer e Nou Women Workers Organisation (Pakistan)
  52. Thamizhaga Vivasayigal Sangam — TVS, La Via Campesina (India)
  53. The People’s Coalition for Fisheries Justice – KIARA (Indonesia)
  54. Transnational Institute — TNI (International)
  55. Trade Justice Pilipinas (Philippines ) 
  56. United Broiler Raiser’s Association — UBRA (Philippines) 
  57. Vivasayigal Thozhilalargal Munnetra Sangam — VTMS (India)
  58. WomanHealth (Philippines)