19/03/2021
Under: Publications, Thailand
ชนิดา แบมฟอร์ด แปล
ในสรุปความนี้ วอลเดน เบลโลได้กลั่นเอาแก่นของความคิดและข้อมูลที่อยู่ในงานเขียน ทุนและอุดมการณ์ ชิ้นอนุสาวรีย์ของโทมัส พิเก็ตตี ออกมารวมไว้ นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้นี้สมควรที่จะมีคนอ่านงานของเขามากยิ่งขึ้น แต่ผู้อ่านหลายคนไม่มีเวลาและพลังงานเพียงพอที่จะลุยอ่านงานคลาสสิคชิ้นนี้ยาวไปจนครบ 1,042 หน้า สรุปความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความเชื่อมั่นอันแรงกล้าว่า เราไม่อาจจะปล่อยให้การอ่านพิเก็ตตีเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแบ่งชั้นทางสังคมหรือด้านงานของมาร์กซ์เท่านั้น เพราะพิเก็ตตีมีความหยั่งรู้ที่มีคุณค่าเกี่ยวกับสังคมในอดีตและในปัจจุบันอันจะเป็นประโยชน์ต่อความพยายามต่างๆของนักเคลื่อนไหวเพื่อการแปลงเปลี่ยนสังคม
ความเข้าใจพิเก็ตตีของคนส่วนใหญ่มาจากการอ่านบทวิพากษ์งานของเขาที่คนอื่นเขียนขึ้น ดังนั้นจึงมักถูกย้อมสีด้วยการตีความของผู้เขียนบทวิพากษ์นั้นๆ หลายเรื่องที่มีคนเขียนขึ้นเกี่ยวกับงานของพิเก็ตตีเป็นการพยายามตอบคำถามว่าพิเก็ตตีเป็นมาร์กซิสต์หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะไม่ว่าเขาจะเป็นผู้เลื่อมใสลัทธิมาร์กซิสต์หรือสังคมนิยมหรือไม่ก็ตาม ผู้อ่านจะได้พบกับความคิดและข้อแนะนำที่สำคัญๆในงานของเขาหลายประการว่าด้วยแนวทางในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ อ่านพิเก็ตตี 1 จึงเป็นการสรุปความอย่างตรงไปตรงมาของความคิดหลักและข้อมูลเชิงประจักษ์ที่พิเก็ตตีนำเสนอใน ทุนและอุดมการณ์ โดยมีข้อคิดเห็นประกอบน้อยมาก ถ้ามีก็จะเป็นเพียงการระบุชี้ประเด็นที่คิดว่ายังขาดไปและเสริมข้อมูลเพิ่มในบางจุด ส่วนใหญ่แล้วจะยกคำพูดของพิเก็ตตีเองมาโดยตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) มีมุมมองของเราเองต่อพิเก็ตตีแน่นอน แต่เราจะนำเสนอความคิดเห็นเรื่องนี้ต่อไปใน อ่านพิเก็ตตี 2 ซึ่งจะตีพิมพ์ออกมาภายหลังเพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิของผู้อ่านส่วนที่ 1
เนื้อหา
วิกฤตของระบอบความไม่เท่าเทียมในตะวันตกตอนต้นศตวรรษที่ 20 วิกฤตของระบบทุนนิยมที่ปฏิรูปแล้วในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 ยุโรปในศตวรรษที่ 19 กับการเปลี่ยนผ่านจากสังคมสามฐานสู่สังคมความเป็นเจ้าของ อินเดียยุคก่อนอิสรภาพกับการเป็นสังคมสี่ฐาน จีนยุคดั้งเดิมกับการบรรจบกับตะวันตกและการเบี่ยงเบนจากตะวันตก ทาสกับสังคมอาณานิคม โศกนาฏกรรมโซเวียต จากการปฏิวัติวัฒนธรรมสู่ “ทุนนิยมบุคลิกจีน” ชาติภูมินิยมทางสังคมในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ชาติภูมินิยมทางสังคมในอินเดีย ทฤษฎีของพิเก็ตตีว่าด้วยส่วนแบ่งของความมั่งคั่งและรายได้ “โดยแก่นสาร” พลวัตของการเปลี่ยนแปลงในระบอบความไม่เท่าเทียม สังคมนิยมแบบมีส่วนร่วมในฐานะการตอบโต้กับวิกฤตเสรีนิยมใหม่