กรุงเทพฯ, 13 กันยายน 2566

English Version

ในขณะที่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เป็นความร่วมมือพหุภาคีที่โดดเด่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ประเทศสมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม นอกจากข้ออ้างเรื่องประโยชน์ที่ประเทศสมาชิกจะได้รับจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มีข้อโต้แย้งว่ากรอบคิดนี้ออกแบบมาเพื่อประโยชน์ของบรรษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและอาจเป็นช่องทางให้บรรษัทข้ามชาติผนึกกำลังผลักดันเป้าหมายเฉพาะของตน ซึ่งมีแนวโน้มลดทอนบทบาทของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม  ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ IPEF ก็คือการเจรจาอย่างเป็นความลับ การเปิดเผยรายละเอียดของกรอบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อมีการสรุปเสาหลักด้านห่วงโซ่อุปทานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งนี้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสและแรงจูงใจเบื้องหลังการเจรจาที่มีการปกปิดเป็นความลับดังกล่าว

การแถลงข่าววันนี้จัดขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยมีตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาสังคมร่วมกันวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ ของกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) และให้ความกระจ่างถึงข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับกรอบทางเศรษฐกิจดังกล่าวและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน และการดำรงชีวิตในท้องถิ่น

Hien Nguyen Thi จากสมาคมผู้หญิง กฏหมายและการพัฒนาแห่งเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Asia Pacific Forum on Women, Law and Development (APWLD) เปิดประเด็นการพูดคุยในมุมมองความเท่าเทียมทางเพศและการค้าโดยกล่าวว่า “การค้าไม่มีความเป็นกลางทางเพศ ผู้หญิงจากซีกโลกใต้สุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้รับประโยชน์จาก IPEF ในบริบทการเจรจาการค้าที่เอื้อประโยชน์ให้บรรษัทข้ามชาติ ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพียง ‘ทรัพยากรที่ยังไม่ได้ใช้’ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กรอบคิดทางการค้าที่ผนวกความเป็นธรรมทางเพศควรเกิดขึ้นโดยผู้หญิงมีส่วนร่วมเพื่อยืนยันว่าผู้หญิงได้รับประโยชน์แท้จริง รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมผ่านการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก IPEF ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ชาวประมง บุคลากรทางการแพทย์ หรือคนจนในชนบทและในเมือง บรรษัทไม่ควรได้รับอนุญาตให้แสวงประโยชน์จากภาคส่วนเหล่านี้เพื่อแสวงผลกำไร”

สืบเนื่องจากประเด็นข้างต้น Melinda St. Louis จาก Public Citizen’s Global Trade Watch ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเจาะลึกถึงความซับซ้อนของ IPEF และผลกระทบในวงกว้างที่ IPEF มีในระดับโลกกล่าวว่า “ภาคประชาสังคมในสหรัฐอเมริการวมตัวกันอย่างยาวนานหลายทศวรรษเพื่อต่อต้านนโยบายการค้าเสรีนิยมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับผลกำไรของบรรษัทข้ามชาติมากกว่าคนงานและสิ่งแวดล้อม ประธานาธิบดีไบเดนตอบโจทย์ความเป็นจริงทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป และอ้างว่า IPEF ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรีแบบดั้งเดิม แต่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของคนงาน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของกรอบเศรษฐกิจนี้เปิดเผยให้เห็นเงื้อมเงาของปีศาจร้าย ไม่ว่าจะเป็น Big Tech ของสหรัฐฯ และบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ที่ยังคงผลักดันให้ข้อกำหนด IPEF เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มผลกำไรสูงสุดให้กับภาคบรรษัทโดยแลกกับชีวิตของผู้คนและทรัพยากรโลกที่ต้องสูญเสียไป ขณะที่ผู้เจรจาการค้าพบปะกันที่กรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้เพื่อเร่งสรุปกรอบการเจรจาฯ ภาคประชาสังคมของสหรัฐฯ ยืนหยัดกับภาคประชาชนไทยและพันธมิตรอื่นๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิก เพื่อเรียกร้องความโปร่งใส ขจัดข้อกังวลต่างๆ ก่อนที่จะสายเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลง”

Benjamin Alvero จาก Center of United and Progressive Workers (SENTRO) ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก IPEF ต่อมาตรฐานแรงงานทั่วทั้งภูมิภาคว่า IPEF ถูกนำเสนอว่าเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการค้ารัฐบาลไบเดนที่เน้นให้คนงานเป็นศูนย์กลาง นอกเหนือจากคำแถลงและสุนทรพจน์ต่อสาธารณะแล้ว คนงานและองค์กรแรงงานกลับไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาของกรอบทางเศรษฐกิจนี้ซึ่งควรเป็นไปสำหรับเราโดยตรง สหภาพแรงงานของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ซีกโลกใต้ถูกกีดกันออกจากกระบวนการเจรจา เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า IPEF จะเป็นผลดีต่อคนงานหากเราไม่มีรายละเอียดเพียงพอในการอภิปรายสาธารณะถึงขอบเขต การบังคับใช้ แรงจูงใจ บทลงโทษที่เกี่ยวข้อง และคนทำงานไม่ได้อยู่ในวงเจรจาเมื่อพูดถึงคำถามสำคัญเหล่านี้

สิ่งที่เราเรียนรู้จากฟิลิปปินส์และที่อื่นๆ ก็คือประสบการณ์อันขมขื่นของนโยบายการค้าก่อนนี้ ซึ่งเกิดจากการยกเลิกระเบียบกฏเกณฑ์การค้าภายในประเทศอย่างเป็นระบบ การแปรรูปสาธารณูปโภคให้เป็นของเอกชน ซึ่งตามมาด้วยการตกงานของคนจำนวนมาก ก่อเกิดงานที่ไม่มั่นคง (precarious work) อย่างกว้างขวาง เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า IPEF จะไม่นำไปสู่สิ่งเดียวกัน นอกเหนือจากการรับรองจากผู้เจรจา?”

ประภาสิริ สุทธิโสม จาก EngageMedia เน้นย้ำว่า IPEF อาจส่งผลต่อสิทธิทางดิจิตอลอย่างไรโดยกล่าวว่า เราต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความสามารถของประชาชนในการสร้างหลักประกันว่าเทคโนโลยีจะถูกนำไปใช้ในลักษณะที่เคารพสิทธิของเรา มีความรับผิดชอบ และไม่เลือกปฏิบัติ ข้อกำหนดของ IPEF เกี่ยวกับการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดนและการเปิดเผยซอร์สโค้ดไม่ได้เป็นเพียงเรื่องทางการค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องสิทธิทางดิจิทัลอีกด้วย”

สำหรับมุมมองจากภาคประชาสังคมไทย ชยุดา บุญรอด จาก สมัชชาคนจน แสดงความห่วงกังวลต่อกรอบทางเศรษฐกิจที่ทำให้ภาคเกษตรรายย่อยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการค้าโลกว่า “นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่รวมถึงกรอบเศรษฐกิจ IPEF ทำให้อาหารและการเกษตรตกเป็นส่วนหนึ่งของโลกการค้า กดดันให้การผลิตทางการเกษตรต้องเป็นแบบอุตสาหกรรมและพึ่งพาปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะสารเคมีจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการเก็งราคาผลผลิตเกษตรและก่อวิกฤตราคาอาหารซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง

ในความเป็นจริงอาหารคือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เป็นหลักประกันต่อคุณภาพชีวิตของสังคมโดยรวม ในฐานะเกษตรกรรายย่อย เราปฏิเสธการเจรจาการค้าใดๆ และกรอบทางเศรษฐกิจที่ลิดรอนสิทธิของเกษตรรายย่อยและสิทธิในการเข้าถึงอาหารของประชาชน รัฐบาลไทยจะต้องสร้างหลักประกันว่าภาคเกษตรจะต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการค้า สร้างความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกร หรือประชาชนทุกคนให้สามารถตรวจสอบในทุกๆเรื่อง เช่น รายละเอียดการเจรจาการค้าต่างๆ เพราะเรื่องที่น่ากังวลที่สุดในตอนนี้ คือเกษตรกรและประชาชนไม่รู้อะไรเลย”

ในด้านข้อกังวลต่อความมั่นคงของความหลากหลายทางชีวภาพ กรรณิการ์ กิตติเวชกุล รองประธาน  FTA Watch ชี้ประเด็นความไม่แน่นอนที่กำลังจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ในประเทศไทยเนื่องจาก IPEF ว่า ภาคประชาชนต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคเรื่องการติดฉลากสินค้าที่มีส่วนผสมของ GMOs มาอย่างยาวนาน เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ออกกฎระเบียบด้านอาหารหลายฉบับ กำหนดให้บริษัทอาหารต้องประกาศการใช้ส่วนผสมที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมบนฉลากอาหาร ใน 2 ปีนับจากนี้ (ซึ่งเป็นระยะเวลาผ่อนผัน) หรือภายในสิ้นปี 2024 ฉลากอาหารทั้งหมดในตลาดจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้ การเจรจาการค้าใดๆ รวมถึง IPEF ที่บ่อนทำลายหรือทำให้สิทธิของผู้บริโภคอ่อนแอลงจะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรง”

Joseph Purugganan จาก Focus on the Global South ให้ข้อสรุปจากการแถลงข่าวว่า “แม้ IPEF จะกล่าวอ้างว่าเป็นโมเดลการค้าเสรีที่ปฏิวัติวงการ แต่เรากลับเห็นฉันทามติอย่างชัดเจนจากการเสวนาในวันนี้ว่า กรอบทางเศรษฐกิจดังกล่าวมีความโน้มเอียงอย่างยิ่งต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทและยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ประเด็นความไม่โปร่งใสในการเจรจาและการเร่งรีบหาข้อสรุป ซึ่งเมื่อประกอบกับบริบทการช่วงชิงพื้นที่ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในเอเชียแปซิฟิกสื่อให้เห็นถึงสัญญาณอันตรายที่รัฐบาลต่างๆ ต้องใคร่ครวญและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสวัสดิการของประชาชนเหนือประโยชน์ของบรรษัท และให้หลักประกันว่า IPEF โดยพื้นฐานแล้วสอดคล้องกับความมุ่งหมายและสิทธิของประชาชน”

 

ช่องทางติดต่อสำหรับสื่อมวลชน:

Anisa Widyasari: [email protected]