นอกจากประเด็นการเข้าถึงยาและการผูกขาดเมล็ดพันธ์ทางการเกษตร กลไกรระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกต่อต้านอย่างมากในข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกหรือทีพีพี โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน โดยเปิดโอกาสและให้อำนาจแก่นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาลผ่าน “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

ประเด็นปัญหาและข้อวิจารณ์ต่อกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในปัจจุบันจะเกี่ยวข้องโดยตรงต่อความโปร่งใสเชิงโครงสร้างและกระบวนการวินิจฉัยข้อพิพาท ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ประโยชน์ทับซ้อนและความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทจะถูกวินิจฉัยและตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการสามคน จากการศึกษาขององค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศเนเธอร์แลนด์พบว่า[i] อนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการพิจารณาและตัดสินข้อพิพาทจะเป็นนักกฎหมายที่มาจากสำนักกฎหมายไม่กี่แห่งและมีจำนวนไม่กี่คนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายหรืออยู่ในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเอกชน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อนุญาโตตุลาการจะทำหน้าที่เอื้อประโยชน์หรือปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนมากกว่าที่จะพิจารณาข้อพิพาทอย่างอิสระและเป็นกลาง
  2. กระบวนการพิจารณาข้อพิพาทจะกระทำในทางลับ การเข้าถึงข้อมูลและเอกสารของข้อพิพาทของประชาชนไม่สามารถกระทำได้ ถึงแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีความพยายามที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและสังเกตการณ์การพิจารณาได้ แต่นั่นก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาความโปร่งใสได้ เนื่องจากอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่นั้น ยังอยู่ภายใต้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการและคู่กรณีของข้อพิพาท
  3. คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการมักจะถือเป็นสิ้นสุดและไม่สามารถที่จะอุทธรณ์ได้เฉกเช่นกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงอนุญาโตตุลาการจะมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินข้อพิพาท โดยไม่มีกระบวนการใดๆที่จะตรวจสอบความถูกต้องของการตีความและพิจารณาข้อพิพาท
  4. กลไกนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักลงทุนในการท้าท้ายนโยบายสาธารณะที่จะปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนั้นแล้ว การที่รัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่งถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องจะสร้างความลังเลแก่รัฐบาลของอีกหลายประเทศที่ต้องการประกาศหรือใช้มาตรการที่มีลักษณะเดียวกัน (Chilling effects) ดังจะเห็นในกรณีที่รัฐบาลของประเทศมาเลเซียและอีกหลายประเทศตัดสินใจชะลอการประกาศใช้มาตรการเกี่ยวกับยาสูบ เนื่องจากเกรงจะถูกบริษัทยาสูบฟ้องในลักษณะเดียวกันกับรัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย

ตัวอย่างข้อพิพาทที่นักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลของประเทศต่างๆ จากการออกนโยบายสาธารณะ

นโยบายสาธารณะ

กรณีฟ้องร้อง

นโยบายเพื่อปกป้องสุขภาพและสาธารณสุข

 

–         บริษัท Philip Morris กับ อุรุกวัย

–         บริษัท Philip Morris กับ ออสเตรเลีย

–         บริษัท Eli Lilly กับ แคนาดา

นโยบายในการให้บริการสาธารณะ (public services)

–         บริษัท Bechtel กับ โบลิเวีย

–         บริษัท Suez กับ อาเจตินา

–         บริษัท Vivendi กับ อาเจตินา

–         บริษัท Biwater Gauff กับ แทนซาเนีย

นโยบายเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

–         บริษัท Pacific Rim กับ เอลซัลวาดอร์

–         บริษัท Renco กับ เปรู

–         บริษัท Churchill Mining กับ อินโดนีเซีย

–         บริษัท Infinito Gold กับ คอสตาริกา

นโยบายการต่อต้านการเหยียดผิว

–         บริษัท Piero Foresti กับ แอฟริกาใต้

 

ข้อตกลงทีพีพีจะสร้างมาตรฐานใหม่ทั้งในด้านการค้าและการลงทุนของโลกที่ครอบคลุมและมีความเข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ และที่สำคัญที่สุดจะเพิ่มอำนาจของบรรษัทข้ามชาติที่จะสามารถครอบงำอำนาจอธิปไตยของรัฐในการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ


[i] Transnational Institute  (2012), Profiting from Injustice How Law Firm, Arbitrators and Financiers are Fuelling an Investment Arbitration Boom, Corporate Europe Observatory and the Transnational Institute, Brussels and Amsterdam